เมื่อพฤติกรรมการบริโภค การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มจำนวนประชากร ต่างส่งผลต่อปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุก ๆ ปี แบบที่เราแทบไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของแนวคิด Waste หรือการทำให้ขยะเหลือศูนย์ ด้วยการเลือกใช้วัตถุที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ได้ใหม่ ลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปจนถึงการบริโภคให้พอดี ใช้เงินอย่างคุ้มค่า ซึ่งคุณเองก็ทำได้นะ
Zero Waste ขยะเหลือศูนย์
ส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักปฏิบัติง่าย ๆ 1A3R ประกอบด้วย Avoid หลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม Reduce ใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ และ Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเราสามารถนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้ ด้วยการปฏิบัติตามภารกิจดังต่อไปนี้
1. ยิ่งนับยิ่งลด
เริ่มต้น Challenge ตัวเองด้วยการนับจำนวนขยะที่เราสามารถลดได้จากการปฏิบัติภารกิจในแต่ละวัน จะให้สนุกขึ้นอีกก็ต้องชวนเพื่อนมาร่วมอุดมการณ์ด้วย พร้อมกำหนดระยะเวลาในการแข่งขัน แล้วมาดูกันว่าใครสามารถลดจำนวนขยะได้มากกว่ากัน นอกจากจะสนุกแล้วยังสร้างแรงบันดาลใจให้เราทำสิ่งดี ๆ ต่อไปอีกด้วย
2. พกถุงผ้าคู่ใจ
ปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกเมื่อไม่จำเป็น ด้วยการพกถุงผ้าใบโปรด ลายเก๋ ๆ ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน คงไม่มีใครอยากหิ้วถุงก๊อบแก๊บครั้งละสามสี่ถุง กรีนแล้วยังเก๋อีกด้วย เพราะเราคงไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่าวันหนึ่ง ๆ เวลาเราไปช้อปเราซื้อของอะไรมาบ้าง อีกทั้งภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสรรพสินค้าเซ็นทรัลและกลุ่มธุรกิจในเครือได้ให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าที่ปฏิเสธการรับถุงพลาสติก โดยลูกค้าที่นำถุงผ้ามาเอง จะได้รับคะแนนจากเดอะวันคาร์ด และทุกวันที่ 5 ของเดือนจะงดให้บริการถุงพลาสติกให้กับลูกค้า
3. ไม่รับช้อน ส้อม ตะเกียบพลาสติก
ช้อนส้อมพลาสติกอาจจะสะดวกในการใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่กลับใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี มิหนำซ้ำตะเกียบใช้แล้วทิ้งบางยี่ห้อจะใส่สารฟอกขาวเกินมาตรฐาน และอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ แถมยังแพ็คมาในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มจำนวนขยะไปอีก จะดีกว่าไหมถ้าเราพกอุปกรณ์มาเอง ใช้สะดวกและแข็งแรงกว่าพลาสติกเยอะเลย คุ้มค่ากว่าเห็น ๆ ในต่างประเทศพัฒนาไปไกลถึงขั้นคิดค้นช้อนกินได้ที่ผลิตมาจากข้าวฟ่าง เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมไร้พลาสติกในอนาคต
4. อุดหนุนร้านค้าแบบเติม
ในต่างประเทศมีร้านค้าแบบเติมหรือที่เรียกว่า Bulk Store ผุดขึ้นมามากมาย แต่ในไทยอาจจะยังไม่คุ้นชินนัก ซึ่งร้านแบบเติมแห่งแรกของไทยมีชื่อว่า “Refill Station ปั๊มน้ำยา” ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ Eco-friendly ที่สามารถใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ โดยจะแบ่งขายสินค้าน้ำยาต่าง ๆ เป็นปริมาณตามต้องการ ซึ่งลูกค้าจะต้องนำภาชนะมาเอง โดยจะแบ่งขายตามน้ำหนักเพื่อลดปริมาณขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง
5. ขวดเดียวแก้วเดิม เพิ่มเติมคือใช้ซ้ำ
วันหนึ่งเราดื่มน้ำคนละกี่แก้ว ยังไม่นับรวมชา กาแฟ น้ำหวานอื่น ๆ นับรวมกันแล้วเป็นขยะหลายชิ้นทีเดียว พกขวดน้ำประจำตัวดีกว่า ใช้แล้วล้างก็สะอาด ดีกว่าการใช้ขวดพลาสติก ที่เสี่ยงต่ออันตรายเมื่อใช้ซ้ำ อีกทั้งกระบวนการผลิตและการทำลายขวดพลาสติกก่อให้เกิดก๊าซพิษ ที่กระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง ปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ประกอบการหลายแห่งตระหนักถึงปัญหานี้ และสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วมาเอง พร้อมมอบส่วนลดราคาเครื่องดื่มให้